วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การทาบกิ่ง

 
การทาบกิ่ง เป็นวิธีการติดตาต่อกิ่งเช่นเดียวกับการติดตาและการต่อกิ่ง คือ ต้นพืชที่ได้จากการทาบกิ่งจะมีส่วนยอดเป็นพันธุ์ดี  และมีรากเป็นพันธุ์ต้นตอเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การทาบกิ่งก็มีข้อแตกต่างไปจากการติดตาและการต่อกิ่งอยู่ ๒ ประการ คือ
          ก. การทาบกิ่ง เมื่อจะทาบจะต้องนำต้นตอเข้าไปหากิ่งพันธุ์ดี แทนที่จะนำกิ่งพันธุ์ดีเข้าไปหาต้นตอเหมือนการติดตาและการต่อกิ่ง
          ข. การทาบกิ่ง ทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดียังมีรากเลี้ยงต้นและเลี้ยงกิ่งอยู่ทั้งคู่  ส่วนการติดตา และการต่อกิ่งจะตัดกิ่งพันธุ์ดีจากต้นที่ต้องการมาติดหรือต่อ  จึงต้องรักษากิ่งให้มีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดจนกว่าจะเกิดการเชื่อมกับต้นตอได้  ฉะนั้นโอกาสการติดหรือต่อได้สำเร็จจึงมีโอกาสน้อยกว่าการทาบกิ่ง
วัตถุประสงค์ของการทาบกิ่ง พอจะแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ
          ๑. การทาบกิ่งเพื่อการขยายพันธุ์
          ๒. การทาบกิ่งเพื่อเปลี่ยนพันธุ์
          สำหรับการทาบกิ่งเพื่อการขยายพันธุ์  มีวิธีการที่นิยมใช้อยู่ ๒ แบบ คือ          ๑. การทาบกิ่งที่คงยอดต้นตอไว้  เป็นวิธีทาบกิ่งแบบประกับ (spliced-approach graft) ที่นิยมปฏิบัติกันดั้งเดิมทั่วๆ ไป  การมียอดหรือมีใบของต้นตอไว้ก็เพื่อที่จะให้ใบได้สร้างอาหารไปเลี้ยงรอยต่อให้เกิดเร็วขึ้น และแม้การทาบจะไม่สัมฤทธิผลในครั้งแรก  ก็ยังมีโอกาสที่จะทาบแก้ตัวได้ใหม่อีกโดยที่ต้นตอไม่ได้รับการกระทบกระเทือนมากนักการทาบกิ่งวิธีนี้ ข้อยุ่งยากอยู่ที่จะต้องคอยรดน้ำต้นตอขณะทาบอยู่เสมอๆ ฉะนั้นจึงไม่ใคร่นิยมทำกันในปัจจุบัน
                    ส่วนวิธีการทาบนั้น ปฏิบัติดังนี้
                    ๑. เลือกต้นตอ  และกิ่งพันธุ์ดีให้บริเวณที่จะทาบกันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑/๒-๑ ซม.
                    ๒. เฉือนต้นตอบริเวณที่จะทาบกันได้สนิทและกะให้ชิดโคนต้นตอโดยเฉือนให้ลึกเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อยและให้เป็นแผลยาวราว ๕-๘ ซม.
                    ๓. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีในทำนองเดียวกันและให้มีความยาวเท่ากับแผลรอยเฉือนบนต้นตอ
                    ๔. มัดหรือพันต้นตอและยอดพันธุ์ดีเข้าด้วยกันให้แผลรอยเฉือนทับกัน โดยให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกันด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน
                    ๕. เมื่อแผลรอยเฉือนประสานกัน (ประมาณ ๓-๔ สัปดาห์) จึงบากเตือนทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี
                    ๖. หลังจากบากเตือนได้ ๑-๒ สัปดาห์ ตัดโคนกิ่งพันธ์ดีออกจากต้นแม่
          ๒. การทาบกิ่งแบบตัดยอดต้นตอออก การทาบกิ่งวิธีนี้ เป็นวิธีที่เปลี่ยนแปลงมาจากการทาบกิ่งแบบมียอดต้นตอ  โดยการปาดยอดต้นตอออกเพื่อป้องกันการคายน้ำจากต้น   พร้อมกันนั้นก็จะมัดปากถุงปลูกของต้นตอ มิให้น้ำหรือความชื้นจากเครื่องปลูกระเหยออกข้างนอกได้  การทาบกิ่งวิธีนี้สะดวกที่ไม่ต้องรดน้ำให้ต้นตอจนกว่าจะตัดกิ่งที่ติดเรียบร้อยแล้วมาปลูก ฉะนั้นจึงสามารถทำได้ตลอดปี และถ้าใช้เครื่องปลูกต้นตอที่มีน้ำหนักเบาๆ แล้วจะสามารถผูกต้นตอติดกับกิ่งพันธุ์ดีได้ โดยไม่ต้องใช้ไม้พยุงหรือผูกค้ำต้นตอ
วิธีการทำการทาบกิ่ง  แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ 
๑. การทาบกิ่งแบบประกับ (Approach grafting)การทาบกิ่งแบบนี้ทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีต่างก็ยังมีรากและยอดอยู่ทั้งคู่ มักใช้ในการทาบกิ่งไม้ผลที่รอยแผลประสานกัน ช้า เช่น การทาบกิ่งมะขาม เป็นต้น สำหรับวิธีการทาบมี ๓ วิธีดังนี้ 
๑.๑ วิธีทาบกิ่งแบบฝานบวบ (Spliced approach grafting) 
๑. เลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ให้บริเวณที่จะทาบมีขนาดพอ ๆ กันและมีลักษณะเรียบตรง 
๒. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อย รอยแผลยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว ลักษณะแผลรอยเฉือนคล้ายรูปโล่ 
๓. เตือนต้นตอในทำนองเดียวกัน และให้มีความยาวเท่ากับแผลบนกิ่งพันธุ์ดี 
๔. มัดต้นตอและยอดพันธุ์ดีเข้าด้วยกันโดยจัดแนวเยื่อเจริญให้สัมผัสกันมากที่สุด 
๕. พันรอบรอยด้วยพลาสติกให้แน่น 
๑.๒ วิธีการทาบกิ่งแบบเข้าลิ้น (Tongued approach grafting) เป็นวิธีที่คล้ายวิธีแรก แต่ต่างกันตรงที่รอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีจะทำเป็นลิ้น เพื่อให้สามารถสอดเข้าหากันได้ 
๑. เลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ให้บริเวณที่จะทาบมีขนาดพอ ๆ กัน 
๒. เฉือนต้นตอให้มีแผลเป็นรูปโล่ยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว พยายามเฉือนให้เรียบอย่าให้เป็นคลื่น 
๓. จาก ๑/๓ ของปลายรอยแผลที่เฉือนนี้ เฉือนให้เป็นลิ้นลงมาเสมอกับโคนรอยแผลด้านล่าง 
๔. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีในลักษณะเดียวกัน แต่ให้ลิ้นที่เฉือนกลับลงในลักษณะตรงกันกับลิ้นของต้นตอ 
๕. สวมลิ้นของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน โดยจัดให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกัน 
๖. พันรอบรอยแผลด้วยพลาสติกให้แน่น 
๑.๓ วิธีทาบกิ่งแบบพาดร่อง (Inlay approach grafting) การทาบกิ่งวิธีนี้มักใช้เพื่อการเปลี่ยนยอด หรือการเสริมรากให้ต้นไม้ที่มีระบบรากไม่แข็งแรง หรือ   ระบบรากถูกทำลาย วิธีทางกิ่งปฏิบัติได้ดังนี้ 
๑. กรีดเปลือกต้นตอตรงบริเวณที่จะทำการทาบ ให้มีความยาวประมาณ ๒-๓ นิ้ว โดยกรีดเป็นสองรอยให้ขนานกัน และให้รอยกรีห่างกันเท่ากับเส้นผ่า                             ศูนย์กลางของกิ่งพันธุ์ดี 
๒. กรีดเปลือกตามขวางตรงหัวและท้ายรอยกรีดที่ขนานกัน แล้วแกะเอาเปลือกออก 
๓. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เข้าไปในเนื้อไม้เป็นรูปโล่ และให้ยาวเท่ากับความยาวของแผลที่เตรียมบนต้นตอ 
๔. ทาบกิ่งพันธุ์ดีตรงบริเวณที่เฉือนนั้นให้เข้าในแผลบนต้นตอ 
๕. ใช้ตะปูเข็มขนาดเล็กตอกกิ่งพันธุ์ดีติดกับต้นตอ แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น 
๖. เมื่อกิ่งพันธุ์ดีและต้นตอติดกันดีแล้ว จึงทำการตัดต้นตอเหนือรอยต่อและตัดกิ่งพันธุ์ดีใต้รอยต่อกรณีต้องการเปลี่ยนเป็นยอดพันธุ์ดี 
๒. การทาบกิ่งแบบเสียบ (Modified approach grafting) เป็นวิธีทาบกิ่งที่แปลงมาจากวิธีการทาบกิ่งแบบประกับ โดยจะทำการตัดยอดต้นตอออกให้เหลือสั้นประมาณ ๓-๕ นิ้ว เพื่อลดการคายน้ำ สำหรับวิธีทาบแบบเสียบที่นิยมปฏิบัติกันมี ๓ วิธีคือ 
๒.๑ การทาบกิ่งแบบฝานบวบแปลง (Modified spliced approach grafting) เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากเพราะสามารถทำได้รวดเร็ว และใช้กับพืชได้ทั่ว ๆ ไป พืชที่นิยมใช้วิธีทาบแบบนี้ ได้แก่ มะม่วง มะขาม ขนุน ทุเรียน เป็นต้น โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้ 
๑. นำต้นตอขึ้นไปทาบโดยกะดูบริเวณที่จะทำแผลทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี 
๒. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปโล่เข้าเนื้อไม้เล็กน้อย และให้แผลยาวประมาณ ๑.๕-๒ นิ้ว 
๓. เฉือนต้นตอเฉียงขึ้นเป็นปากฉลามให้แผลยาวเท่ากับแผลที่เตรียมบนกิ่งพันธุ์ดี 
๔. นำต้นตอประกบกับกิ่งพันธุ์ดี โดยให้แนวเยื่อเจริญทับกันด้านในด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน 
๕. พันรอบรอยแผลด้วยพลาสติกให้แน่นและมัดต้นตอเข้ากับกิ่งพันธุ์ดี 
๒.๒ การทาบกิ่งแบบเข้าบ่าขัดหลัง (Modified veneer side approach grafting) วิธีการทาบกิ่งแบบนี้คล้ายกับวิธีฝานบวบแปลง แต่แตกต่างกันตรงรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดีจะเฉือนทำเป็นบ่าหรือเงี่ยงปลา ส่วนของต้นตอจะเฉือนด้านหลังของรอยแผลปากฉลามออกเล็กน้อย พืชที่นิยมใช้เช่นเดียวกับแบบฝานบวบแปลง โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้ 
๑. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเอียงขึ้นเข้าเนื้อไม้ประมาณ ๑/๔ ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งความยาวแผลประมาณ ๑.๕-๒ นิ้ว เฉือนแผลด้านบนทำเป็นบ่าหรือเงี่ยง                           ปลาประมาณ ๑/๔ ของความยาวของแผล 
๒. เฉือนต้นตอเป็นรูปปากฉลามตัดด้านหลังเอียงขึ้นเข้าหาปากฉลามขนาดความยาวแผลประมาณ ๑/๔ ของแผลปากฉลาม 
๓. นำต้นตอที่ปาดเรียบร้อยแล้วสอดเข้าไปขัดกับบ่าหรือเงี่ยงปลาที่ทำไว้ แล้วจัดให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกันมากที่สุด 
๔. พันด้วยพลาสติกให้แน่น 
๒.๓ การทาบกิ่งแบบเสียบข้างแปลง (Modified side approach grafting) วิธีการทาบแบบนี้มีขั้นตอนต่าง ๆ เหมือนวิธีแรก แต่แตกต่างกันที่ลักษณะเฉือนต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี โดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้ 
๑. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นมุมเอียงขึ้นประมาณ ๒๐-๓๐ องศา เข้าไปในเนื้อไม้ประมาณ ๑/๔ ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ความยาวแผลประมาณ ๑.๕-๒                               นิ้ว 
๒. เฉือนต้นตอเป็นรูปลิ่มโดยให้แผลส่วนที่สัมผัสด้านในาวกว่าแผลหน้าที่สัมผัสด้านนอก 
๓. สอดต้นตอเข้าไปในเนื้อไม้แบบตอกลิ่ม โดยให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกันมากที่สุด 
๔. พันด้วยพลาสติกให้แน่น